วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

เสน่หาโปรวองซ์ - ทัสคานี Charming Provence - Tuscany

เสน่หาโปรวองซ์ - ทัสคานี Charming Provence - Tuscany
ฟลอเรนซ์ (อังกฤษ: Florence) หรือ ฟีเรนเซ (อิตาลี: Firenze) เป็นเมืองหลวงของแคว้นทัสกานีและมณฑลฟลอเรนซ์ในประเทศอิตาลีระหว่าง ค.ศ. 1865 ถึง ค.ศ. 1870 ฟลอเรนซ์ก็เป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรอิตาลี ฟลอเรนซ์ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอาร์โน มีประชากรประมาณ 400,000 คนและอีก 200,000 คนในบริเวณปริมณฑล ฟลอเรนซ์ในยุคกลางเป็นศูนย์กลางทางการค้าและทางการเงิน และถือกันว่าเป็นที่เกิดของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ตระกูลที่มีอำนาจการปกครองฟลอเรนซ์เป็นเวลานานคือตระกูลเมดีชี (Medici) นอกจากนั้นฟลอเรนซ์ก็ยังมีชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางศิลปะและสถาปัตยกรรม ในยุคกลางฟลอเรนซ์เป็นที่รู้จักกันในนามว่าเอเธนส์ใจกลางเมืองเก่าของฟลอเรนซ์ได้รับเลือกโดยองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525)



เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เมืองศูนย์กลางแห่งศิลปะในยุคเรอเนซองส์ หรือ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ที่เห็นโดดเด่นในภาพคือ มหาวิหารซานตามาเรีย เดล ฟิเอโร (Cathedral of Santa Maria del Fiore) ที่โดดเด่นด้วยยอดโดม ที่กล่าวกันว่าใหญ่ที่สุดในโลก ฝีมือของ ฟิลิปโป บรูเนลลิสกี (Fillippo Brunelleschhi, 1377-1446) ผู้เดินทางไปโรมเพื่อดั้นด้นศึกษางานสถาปัยตกรรมจากซากโบราณสถานของโรมัน ที่ยังหลงเหลืออยู่ แล้วค้นพบวิชาความรู้ของยุคโรมันที่สูญหายไปเป็นเวลาพันกว่าปี จนสามารถสร้างโดมขนาดใหญ่ที่สุดได้ ชมความงามด้านหน้าของวิหาร ที่ประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนสีเขียว, ขาว และแดง อย่างวิจิตรตระการตา แต่ด้านในกลับเรียบง่ายตามสไตล์เรอเนซองส์ตอนต้น ซึ่งยังคงอิทธิพลแบบโกธิคอยู่ชมหอระฆังกัมปานีเล ที่ออกแบบโดย จิออสโต (Giotto) และวิหารประกอบพิธีรับศีลจุ่ม (Baptistery) ที่มีประตูแห่งสรวงสวรรค์ หรือ Paradise door ชมภาพโมเสคเหนือเพดานภายใน เรื่อง การตัดสินครั้งสุดท้าย (The Last Judgment) ที่งดงาม



ลวดลายอันวิจิตรด้านหน้าของมหาวิหารซานตามาเรีย เดล ฟิเอโร (Cathedral of Santa Maria del Fiore)



ภายในมหาวิหารซานตามาเรีย เดล ฟิเอโร (Cathedral of Santa Maria del Fiore)



จัตุรัสเดลลา ซินญอเรีย (Piazza della Signoria) ที่ตั้งของศาลาว่าการเมือง และเป็นที่ตั้งรูปปั้นเดวิด ฝีมือของไมเคิล แองเจโล ของแท้มานานกว่า 3 ศตวรรษ จึงได้มีการย้ายไปเก็บไว้ที่แกลลอรี่ เดลยิ อัคคาเดเมีย (Galleria degli Accademia) ในปี ค.ศ. 1873 และนำรูปจำลองที่เหมือนของจริงทุกประการมาไว้ที่นี่แทน นอกจากนั้น ยังมีรูปปั้นเฮอร์คิวลิส ผลงานของ บานดิเนลลี (Bandinelli) ซึ่งสร้างในปี ค.ศ. 1534 และน้ำพุเนปจูน ของอัมมานาตี (Ammanati) ซึ่งสร้างในปี ค.ศ. 1575 และชมปาลัซโซ เวคคิโอ (Palazzo Vecchio) หรือแปลเป็นไทยว่า ปราสาทเก่า เป็นศูนย์กลางในการบริหารแผ่นดิน ปัจจุบันด้านหน้าอาคารนี้จะประดับประดาไปด้วยรูปประติมากรรมทั้งของจริงและจำลอง ไว้ให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวได้ชมกัน ถัดไปทางด้านใต้ เป็นที่ตั้งของล็อจจา เดอิ ลานซิ (Loggia dei Lanzi) ซึ่งเป็นที่เก็บรูปปั้นสมัยโรมันโบราณ ที่มีชื่อเสียงได้แก่ รูปปั้น Rape of The Sabine Women เป็นผลงานของจัมโบโลญย่า (Giambologna) ในปี ค.ศ. 1583 และ รูปปั้นเพอร์ซีอุส (Perseus) ตัดหัวนางเมดูซา (Medusa) ผู้มีงูบนศรีษะ ฝีมือของ เซลลินี (Cellini) ในปี ค.ศ. 1554



พิพิธภัณฑ์อุฟฟิชซี (Uffizi Gallery) ซึ่งออกแบบโดย วาซารี แต่เดิมเคยเป็นที่ทำการของตระกูลเมดิซี (Medici) ที่เคยปกครองเมืองนี้มาเป็นเวลานาน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เก็บรวบรวมผลงานศิลปะในยุคกลางไว้มากมาย ชมภาพที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Primavera หรือ ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ผลงานของ แซนโดร บอตติเซลลี (Sandro Botticelli) ในปี ค.ศ. 1480 และภาพ Birth of Venus ฝีมือของบอตติเซลลีเช่นกัน ซึ่งสร้างสรรค์ในปี ค.ศ. 1485



ภาพที่ชื่อ "Primavera" (ฤดูใบไม้ผลิ) เป็นจิตรกรรมสีฝ่นบนผ้าใบที่เขียนโดยซานโดร บอตติเชลลี[1]จิตรกรสมัยเรอเนซองส์คนสำคัญของอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิในเมืองฟลอเร็นซ์ในประเทศอิตาลี



ภาพ "The Birth of Venus" (กำเนิดวีนัส) เป็นจิตรกรรมที่เขียนโดยซานโดร บอตติเชลลี เช่นกัน เป็นภาพของวีนัสลอยมาเกยฝั่งอย่างผู้หญิงเต็มตัว



สะพานปอนเต เวคคิโอ (Ponte Vecchio) สะพานเก่าแก่แห่งแรกของเมืองที่ข้ามแม่น้ำอาร์โน ในปี ค.ศ. 1345 สะพานนี้เป็นสะพานเดียวที่หลงเหลือ จากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสะพานที่มีชื่อเสียงมาก สองข้างบนสะพานเป็นร้านค้า สมัยก่อนเป็นร้านขายเนื้อสัตว์ ต่อมามีการปรับปรุงทัศนียภาพ เลยเปลี่ยนให้กลายเป็นร้านขายทองทั้งหมด ท่านจะได้เห็นถึงสินค้าที่จัดแสดงในร้าน ซึ่งมีตั้งแต่ เครื่องประดับราคาถูก ไปจนถึงชุดเครื่องเพชร และวัตถุโบราณที่มีราคาแพง ไปจนถึงสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่



มุมมองจาก จัตุรัสไมเคิลแองเจโล (Piazzale Michelangelo) ซึ่งเป็นวิวพาโนราม่าอันแสนสวยงามของเมืองฟลอเรนซ์ และหุบเขาอาโน โดยมีมหาวิหาร Duomo ตั้งเด่นเป็นสง่า ท่ามกลางบ้านเรือนสมัยเรอเนซองซ์ คั่นด้วยแม่น้ำอาโน และสะพานเก่าแก่เรียงราย ถ่ายภาพและดื่มด่ำบรรยากาศ จากจุดชมวิวที่แสนงดงาม



โบสถ์ซานต้า โครเซ (Church of S. Croce) ซึ่งแต่เดิมสร้างในยุคกลาง แต่ได้มีการสร้างใหม่ในรูปแบบของศิลปะยุคเรอเนซองซ์ ชมภาพปูนเปียก (fresco) ที่สวยงามภายใน ซึ่งเป็นผลงานของจิอ็อตโต และลูกศิษย์ของเขา



ปราสาทแพนซาโน่ (The Castle of Panzano) เขตเชียนติ Chianti ที่สร้างในศตวรรษที่ 11 เพื่อเป็นป้อมปราการ ป้องกันเมืองฟลอเรนซ์ ในการสู้รบระหว่างฟลอเรนซ์ และ เซียน่า



โบสถ์พริวี ดิ ซาน ลีโอลีโน (Pieve di San Leolino) โบสถ์คาทอลิคเก่าแก่ รูปแบบโรมาเนสก์ ที่มีอายุย้อนไปถึงปี 982 ภายในมีภาพเขียนและภาพโมเสคที่มีชื่อเสียง ฝีมือของ จีโอวานนี เดลลา รอบเบีย (Giovanni Della Robbia) และ เมอริโอเร่ จาโคโป (Meliore Jacopo) เช่น ภาพมาดอนน่าปราบดาภิเษกกับนักบุญปีเตอร์และนักบุญปอลล์



ป้อมปราการร็อกกา ก็อมมูนาเล (Rocca Comunale) ที่เมืองคัสเทลลีน่า Castellina ป้อมปราการที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันใช้เป็นศาลากลางของเมือง



โบสถ์ ซานตา ซาลวาโทเร (Church of S. Salvatore) โบสถ์สมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ และขยายให้ใหญ่ขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอ โรมาเนสก์ ชมภาพมาดอนน่าปราบดาภิเษก ซึ่งเป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนเปียก (fresco) ที่สำคัญ ฝีมือของ Bicci di Lorenzo (1373-1452) และรูปแกะสลักไม้ของนักบุญบานาบาส (St. Barnabas) ซึ่งเป็นอดีตนักบุญอุปถัมถ์ของเมืองนี้ นอกจากนั้น ยังมีโกศไม้ประดับทอง บรรจุอัฐิของนักบุญฟุลสตัส (St. Faustus) ด้วย



หลุมฝังศพโบราณของชาวอีทรัสกัน ที่มอนเต คาลวาริโอ (Monte Calvario) ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ภายในมีห้องฝังศพ 4 ห้อง เรียงจากทิศเหนือ,ใต้,ตะวันออก และตะวันตก หลุมฝังศพนี้ถูกค้นพบในศตวรรษที่ 6 และได้มีการขุดแต่งในปี 1915



บางชิ้นของสมบัติที่ขุดพบจากหลุมศพชาวอีทรัสกัน แสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์โบราณคดีของเขตซิอานติ (Archeological Museum) ซึ่งเก็บรวบรวม และจัดแสดงสิ่งของสมัยโบราณในเขตซิอานติ โดยเฉพาะสิ่งของ ของชาวอิทรัสกัน ที่ขุดค้นได้จากมอนเต คาลวาริโอ


ดูสถานที่ท่องเที่ยวอื่นต่อได้ที่



https://www.facebook.com/planetbluetravel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น